ความเชื่อโบราณ เรื่องจริงหรือแค่ กุศโลบาย

ความเชื่อโบราณ ในสมัยก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบัน เชื่อว่าหลายคนคงเคยถูก ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พ่อ แม่ สั่งสอนห้ามทำโน่นทำนี่ ด้วยเหตุผลที่อธิบายได้ยาก และบางครั้งดูราวไร้เหตุผล แต่เราลูกๆหลานๆ ก็มักยอมปฏิบัติตาม แม้ในใจอาจะคัดค้านหรือนึกสงสัยอยู่บ้าง แต่ก็น่าแปลกที่ว่าสิ่งที่คนโบราณบอกต่อกันมาเพื่อดูแล ตักเตือน และสั่งสอนลูกๆหลานๆด้วยห่วงใย เหล่านี้ หลายสิ่งหลายอย่างก็ช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่น่าเชื่อ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลก็คือ สิ่งที่ห้ามเหล่านี้ล้วนเป็น “โบราณอุบาย” อันหมายถึงวิธีอันแยบยลที่มีมาช้านาน ในการตักเตือนหรือขู่ให้กลัว กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายกับบุคคล ซึ่งมักขึ้นด้วยคำว่า “ห้าม” หรือ “อย่า” โดยมีเจตนาหรือจุดมุ่งหมายแฝงอยู่ในข้อห้ามนั้น ๆ

ในปัจจุบันก็ยังมักได้ยินปู่ ย่า ตา ยาย เล่าถึงอยู่  ลองมาอ่านกันดูนะคะ

ห้ามตากผ้าข้ามคืน กระสือจะเช็ดปาก

เด็กๆ ไม่ว่าในยุคไหนสมัยไหน ก็มักจะชอบฟัง นิทาน เรื่องเล่า ด้วยเหตุนี้นิทานหรือเรื่องเล่าต่างๆ จึงมักจะแฝงข้อคิดที่ผู้ใหญ่ต้องการสอนเด็กไว้ในเรื่องด้วยเสมอ ไม่ยกเว้นแม้แต่นิทานที่เกี่ยวกับผีที่หลายๆคนชอบ แม้จะกลัว แต่ก็อยากฟัง สำหรับเรื่องผีที่คนฟังกี่ครั้งก็ไม่เบื่อน่าจะได้แก่เรื่อง ผีกระสือ
คนโบราณออกอุบายโดยอาศัยความกลัวผีกระสือของเด็กๆ เพื่อไม่ให้ลืมเก็บผ้าที่ตนตากไว้ เพราะผ้าที่ใช้ในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นผ้าที่ทอมาจากฝ้ายแทบทั้งสิ้น กว่าจะทอและตัดเย็บเสร็จแต่ละผืนก็ให้เวลานาน ดังนั้น การตากผ้าทิ้งไว้ข้ามคืน ก็จะทำให้ผ้าเปียกฝนหรือน้ำค้าง ส่งผลให้ผ้าเก่าเร็ว ชำรุดเปื่อยง่าย นอกจากนี้อาจสูญหายจากการถูกขโมย หรืออาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ มาแอบหลบอาศัยอยู่ และจะเป็นอันตรายเมื่อนำไปสวมใส่ ที่สำคัญคือยังแสดงถึงความเกียจคร้านของเจ้าของผ้า ไม่รู้จักเก็บรักษาทรัพย์สิน ความเชื่อโบราณ เรื่องนี้จึงเป็นการสอนให้ลูกผู้หญิงรู้จักเป็นแม่บ้านแม่เรือน คอยดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน นั่นเอง

ห้ามตัดเล็บกลางคืน วิญญาณบรรพบุรุษจะอยู่ไม่เป็นสุข

การดำรงชีวิตประจำวันของคนในสมัยก่อนจะยังไม่มีค่อยใส่ใจในด้านการดูแล รักษา สุขภาพ อนามัยของตัวเองอย่างเช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กๆ มักจะเล่นปั้นดินเหนียว  รองเท้าก็ไม่ใส่ เล็บมือเล็บเท้าจึงดำมีแต่ขี้ดินขี้โคลนแทรกอยู่ พอกลางคืนก็จะนึกขึ้นได้ว่าพรุ่งนี้จะต้องไปโรงเรียน และครูก็จะมาตรวจความสะอาด จึงต้องรีบตัดเล็บ บางคนจึงต้องใช้วิธีการใช้ปากกัดเล็บทีละเล็กละน้อยจนสั้น แต่ก็จะดูไม่เรียบสวยเท่ากับใช้มีดตัด ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช้มีดเหลาดินสอก็มักจะใช้มีดเจียนหมากของ ย่า ยายตัดเล็บ ทำให้ตัดเล็บได้ไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยเท่ากรรไกรตัดเล็บในปัจจุบัน คนโบราณจึงห้ามตัดเล็บเวลากลางคืน โดยอ้างเป็นอุบายว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะอยู่ไม่เป็นสุข เพราะการตัดเล็บกลางคืนจะทำให้มีดบาดนิ้วได้ เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีแต่ตะเกียงน้ำมันวับๆแวมๆ ซึ่งให้แสงสว่างไม่เพียงพอ ถ้าตัดเล็บกลางคืนก็จะบังคับมีดได้ยาก อีกทั้งไฟที่สว่างแบบวูบวาบทำให้เกิดแสงและเงา อาจจะตัดเอาเนื้อแทนที่จะตัดเล็บก็ได้ จึงห้ามตัดเล็บกลางคืน ข้อห้ามข้อนี้ตรงกับข้อห้ามของชาวภาคใต้ โดยใช้อุบายว่า “ห้ามตัดเล็บกลางคืนอายุจะสั้น” จุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกมีดหรือของมีคมที่ใช้เจียนเล็บบาดนิ้ว

จะก้าวขึ้นหรือลงบันได ให้ก้าวทีละขั้น อย่าก้าวทีเดียวสามขั้น จะทำมาหากินไม่ได้

ประเทศไทยเป็นชุมชนเกษตรกรรมมาแต่โบราณ ดังนั้น บ้านเรือนส่วนใหญ่จึงสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และวิถีความเป็นอยู่ได้อย่างเด่นชัด บ้านเรือนไทยในแทบทุกภาคจะนิยมยกพื้นสูงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูน้ำหลาก หากเป็นฤดูอื่นก็จะใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์การเกษตร หรือให้เด็กๆได้วิ่งเล่น และเป็นที่พักผ่อนเย็นสบายในช่วงกลางวัน  บันไดบ้านในสมัยก่อนจะอยู่นอกบ้าน นิยมใช้ไม้แผ่นทำเป็นขั้นสำหรับขึ้นลง โดยส่วนใหญ่มีลักษณะด้านล่างโปร่งโล่ง และมีราวจับเพียงด้านเดียว หรืออาจไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจึงค่อนข้างต้องใช้ความระมัดระวังในการขึ้นลง และหากมีอายุการใช้งานมานาน ไม้ก็อาจจะถูกเดินจนเรียบและลื่น หรือมีบางส่วนผุไปตามกาลเวลาได้
ดังนั้น การที่ คนโบราณสอนไว้ว่า การก้าวขึ้นหรือลงบันได้นั้น ควรขึ้นลงทีละขั้น อย่าก้าวทีเดียวสามขั้น จะทำมาหากินไม่ดี ก็เพื่อป้องกันอันตราย  มิฉะนั้นอาจพลัดตกขาแข้งหัก หรือหัวแตกเกิดอันตรายกับตนเอง และที่สำคัญเป็นการสอนให้รู้จักคิดรู้จักไตร่ตรองว่า การทำอะไรควรทำเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ควรทำอะไรข้ามขั้นตอน

อย่าปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ ลูกหลานจะทะเลาะกัน

สภาพสังคมในอดีต การมีที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นเรือกสวนไร่นายังไม่มีการปักหลักเขตหรือล้อมรั้วเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์อย่างชัดเจนแต่อย่างใด แต่จะใช้ลักษณะทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง แนวต้นไม้ใหญ่ ฯลฯ เป็นสิ่งแสดงเขตที่ดินแทนหลักเขต ด้วยเหตุข้างต้น จึงมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมา ว่า “ อย่าปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ ลูกหลานจะทะเลาะกัน ” ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าอธิบายให้ฟังว่า ที่ห้ามไม่ให้ปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ก็เพราะว่า กอไผ่แรกปลูกก็จะเป็นเพียงแค่ต้น สองต้น อยู่ริมพื้นที่เท่านั้น แต่เมื่อต้นไผ่เติบโตงอกงามมีหน่อขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็จะขยายกอใหญ่โตออกไป ทำให้รุกล้ำไปในที่ของคนอื่นเกิดปัญหาโต้แย้งกันเรื่องแนวเขตที่ดิน
ดังนั้น คนสมัยก่อนจึงได้ออกโบราณอุบาย “ อย่าปลูกกอไผ่ไว้ริมที่ ลูกหลานจะทะเลาะกัน ” เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนรุ่นหลังไว้ โดยพูดเป็นอุบายทำให้คนในสังคมเกิดความกลัว และตระหนัก เพื่อที่จะสอนให้ละเว้นไม่ประพฤติปฏิบัติ ในสิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งทั้งในครอบครัวตนเอง และเพื่อนบ้าน และมีผลให้สังคมสงบเรียบร้อย

ห้ามหญิงท้องไปดูเขาออกลูก จะออกลูกยาก

การคลอดลูกในสมัยโบราณกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก การทำคลอดในอดีตจะต้องอาศัยหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอดที่บ้าน ไม่ได้คลอดในห้องคลอดอย่างโรงพยาบาลปัจจุบัน ซึ่งห้ามมิให้ผู้อื่นเข้าไปนอกจากหมอและพยาบาล หรืออาจจะมีพ่อเด็กด้วยในบางแห่ง บางคนคลอดยาก ส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความปวดท้องอย่างทรมานอยู่นาน อีกทั้งอาการคลอดก็น่ากลัว ดังนั้น หากหญิงมีครรภ์ไปดูคนอื่นคลอดลูกแล้วได้ยินเสียงหรือได้เห็นภาพอาการเจ็บปวดของการคลอดอาจจะทำให้กลัวและเกิดอาการเสียขวัญ จึงมีอุบายหลอกไม่ให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องไปดูการคลอดลูก จะออกลูกยาก
นอกจากนี้ยัง “ห้ามคนมีท้องหน้าบึ้ง ลูกเกิดมาจะไม่สวย” โดยปกติผู้หญิงที่มีครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสรีระและระดับฮอร์โมน ทำให้ บางคนหงุดหงิด ขี้โมโห ฉุนเฉียว  ทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวนได้ หญิงมีครรภ์จึงควรทำจิตใจให้สงบ อารมณ์แจ่มใส ใบหน้ายิ้มแย้มไม่บึ้งตึง ลูกในครรภ์จะสุขภาพจิตดี หน้าตาสวยงาม

 

ที่มาจาก : https://www.gotoknow.org/posts/396000

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Copyright © 2016 MThai.com All rights reserved. หมายเลขทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ : 0127114707040