เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือวันพระ เหล่าพุทธศาสนิกชนจะนิยมทำบุญตักบาตร นับว่าเป็นประเพณีการทำบุญที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน สำหรับอาหารที่ใช้ตักบาตร หรือถวายพระนั้นจะประกอบไปด้วย อาหารคาว หวานเป็นหลัก แต่ปัจจุบันกลับพบว่า อาหารตักบาตร ถวายพระส่วนใหญ่เป็นอาหารรสเค็มจัด หวานจัดและไขมันสูง ส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังตามมา
เพื่อเป็นแนวทางให้กับพุทธศาสนิกชน ใส่ใจกับอาหารสำหรับตักบาตร และอาหารถวายพระมากขึ้น นางสาววิลาวัลย์ บุญก้อน นักโภชนาการ และนางจิราภรณ์ แสงสุวรรณ โภชนากรชำนาญงาน โรงพยาบาลนครพนม จึงให้คำแนะนำ เกี่ยวกับอาหารตักบาตรเพื่อสุขภาพมาฝากกันค่ะ
1. ปัจจัยด้านอาหารที่ส่งผลให้พระสงฆ์ และสามเณรอาพาธ ด้วยโรคเกี่ยวกับระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เกิดจากฉันอาหารที่มีส่วนผสมของเครื่องปรุงประเภทโซเดียมสูง เช่น เกลือแกง น้ำปลา ผงปรุงรส หรือฉันอาหารที่มาจากการถนอมอาหารโดยการหมักดอง หรืออาหารพื้นบ้านบางอย่างเช่น ผักดอง ปลาร้า ปลาส้ม แหนม เป็นต้น รวมถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ และอาหารที่มีไขมันสูง
สำหรับอาหารหวาน ที่มีส่วนผสมของกะทิ น้ำตาล หรือบางครั้งพระสงฆ์มักจะได้รับกิจนิมนต์ในงานมงคลต่างๆ ซึ่งอาหารที่มักพบเจอตามงาน คือ ขนมมงคลต่างๆ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เป็นต้น และการถวายผลไม้ที่มีรสหวานจัดๆ อย่างเช่น ขนุน ละมุด น้อยหน่า ลิ้นจี่ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของการอาพาธ
2. เลือกประเภทอาหารตักบาตร ตามประเพณีทำบุญแต่ดั้งเดิมถึงจนปัจจุบัน คนไทยจะตักบาตรด้วยข้าว เนื่อง จากข้าวเป็นอาหารหลัก จะมีทั้งข้าวสวยและข้าวเหนียว แต่สามารถเพิ่มหรือเลือกเป็นข้าวกล้องและข้าวไม่ขัดสีบ้าง เพราะในข้าวที่ไม่ได้ผ่านการขัดสีจะมีประโยชน์มากกว่าข้าวขัดขาว ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยอาหารและวิตามินต่างๆ
เนื้อสัตว์ ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หรือเน้นเนื้อปลาเป็นส่วนใหญ่ หลีกเลี่ยงหมูสามชั้น หนังหมู หรือหนังไก่ สำหรับผัก สามารถ นำมาปรุงประกอบอาหารตักบาตรได้ทุกชนิดไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นผักกลุ่ม 5 สี คือสีเขียว แดง เหลือง ม่วง ขาว อย่างเช่น ผักบุ้ง มะเขือเทศ แครอท มะเขือม่วง ขึ้นช่าย แต่สำหรับผักที่มีแป้งมาก เช่น เผือก มัน ควรนำมาทำอาหารตักบาตรแต่พอควร เพราะผักประเภทนี้ให้พลังงานกับร่างกายมาก
ผลไม้ ควร เลือกตักบาตรหรือถวายผลไม้ที่รสไม่หวานมาก ควรเป็นผลไม้ตามฤดูกาลและไม่ควรตักบาตรหรือถวายเพียงอย่างเดียวในปริมาณมากๆ เช่น ลำไย ทุเรียน เป็นต้น และควรเลือกผลไม้หลากหลายชนิด
สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรนำมาถวายพระสงฆ์ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กสำเร็จรูป เพราะอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทนี้มักจะมีโซเดียมปริมาณสูงซึ่งส่งผลต่อความ ดันโลหิตและไต นอกจากนี้พระสงฆ์ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน ไม่แนะนำให้ฉันอาหารในปริมาณมาก
3. การเลือกฉันอาหารในพระสงฆ์ และสามเณร สำหรับ พระสงฆ์จะเป็นวัยผู้ใหญ่ การฉันอาหารย่อมมีความแตกต่างจากสามเณร พระสงฆ์ที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถเลือกฉันตามหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ คือ
1.) กิน อาหารครบ 5 หมู่
2.) กินข้าวเป็นอาหารหลัก ควรเป็นข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย
3.) กินพืชผักผลไม้ครบทั้ง 5 สี เป็นประจำ และตามฤดูกาล
4.) กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
5.) ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
6.) กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร ควรบริโภคไขมันจากพืชและเป็นกรมไขมันชนิดไม่อิ่มตัว
7.) หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานและเค็มจัด
8.) กินอาหารสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนจากเชื้อโรคและสารพิษ
9.) งดและลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
สำหรับสามเณรซึ่งเป็นวัยเด็ก ต้องการสารอาหารและพลังงานที่มากกว่า เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การเลือกฉันแต่นมจืด หรือนมพร่องมันเนยอาจจะได้รับพลังงานน้อยจนเกินไป อาจเลือกฉันนมหวานหรือนมไขมันเต็มส่วนได้ และต้องแปรงฟันหรือบ้วนปากหลังจากฉันทุกครั้งเพื่อป้องกันฟันผุ ส่วนสามเณรที่มีน้ำหนักตัวมากอาจเลือกฉันนมจืดหรือนมพร่องมันเนยแทน เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
มากันที่ข้อควรรู้สุดท้าย คือ 4.น้ำปานะที่ควรถวายแด่พระสงฆ์ ในกรณีที่มีอุบาสก-อุบาสิกา หรือแม่ชีทำถวายที่วัด ควรเลือกเป็นน้ำสมุนไพรที่รสไม่หวานมาก เช่น น้ำมะตูม น้ำลำไย น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำขิง รวมถึงน้ำผลไม้รสไม่หวานมาก หรืออาจเลือกถวายเป็นนมจืด นมพร่องมันเนย และไม่ควรถวาย น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
นอกจากนี้ นักโภชนาการได้ยกตัวอย่างรายการอาหาร สำหรับตักบาตรหรือถวายพระสงฆ์ ประกอบด้วย ข้าวกล้อง กับ น้ำพริก ปลานึ่ง ผักลวก, แกงจืด, ไข่ดาวน้ำ, ผัดผักรวมมิตร และต้มจับฉ่าย ส่วนขนมหวานจะเป็น สาคูแคนตาลูป ที่ใช้นมจืดหรือนมพร่องมันเนยแทนกะทิ และผลไม้รสไม่หวานจัดตามฤดูกาล ซึ่งเมนูเหล่านี้จะมีรสชาติไม่เค็มจัด ไม่หวานจัด ไขมันน้อย และมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ด้วย
ทิ้งท้ายกันด้วยแนวทางการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับพระสงฆ์โดย พระอาจารย์วรวัฒน์ วรวฑฺฒโน กล่าวถึงวิธีการออกกำลังกาย ไว้ 3 ข้อว่า
1. เดินบิณฑบาต การเดินบิณฑบาตทุกเช้า เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง
2. การกวาดลานวัด หรือ ทำความสะอาดบริเวณวัด สังเกตได้ว่าวัดเป็นสถานที่ที่มีความสะอาด นอกจากพระสงฆ์จะได้ออกกำลังกายไปในตัวแล้ว ยังเป็นการฝึกจิตและฝึกสมาธิด้วย
3. การจัดสถานที่บริเวณวัด เมื่อมีการจัดงานบุญต่างๆ เกิดขึ้นภายในวัด
“กายจะแข็งแรงต้องมีการเคลื่อนไหว จิตใจจะแข็งแกร่งต้องสงบนิ่ง เริ่มต้นเข้าพรรษานี้ ลดละเลิกอบายมุข มาเข้าวัดปฏิบัติธรรม เมื่อใจแข็งแรง กายก็จะแข็งแรงตาม” พระอาจารย์วรวัฒน์ วรวฑฺฒโน ฝากคติธรรมสอนใจ
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบโดย : Horoscope.Mthai.com