อาหารไหว้เจ้า ตรุษจีน 2558

อาหารไหว้เจ้า

ตรุษจีน ปีนี้ คุณเตรียมของไหว้เจ้ากันยังครับ ถ้ายัง Horoscope.Mthai.com มีข้อมูลมาบอกครับ การเตรียมอาหารไหว้เจ้า ตรุษจีน พร้อมความหมายดีๆ

ก่อนอื่นขอบอกประวัติ ตรุษจีน ในประเทศไทย ก่อนครับ ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว

ตอนเช้ามืดจะไหว้ ป้ายเล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ ซำเช้ง) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

ตอนสายจะไหว้ ป้ายแป๋บ้อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว

ตอนบ่ายจะไหว้ ป้ายฮ่อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล

วันเที่ยวหรือ วันถือ คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันคือ ป้ายเจีย เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียงภาษาแต้จิ๋วว่า “กิก” หรือ ภาษาฮกเกี้ยน ก้าม ซึ่งไปพ้องกับคำว่าความสุขหรือโชคลาภ เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

ในวันฉลอง ตรุษจีน อาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันไหนๆในปี อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวัน ตรุษจีน ครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่างๆที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆมีความหมายที่เป็น มงคลในตัวของมัน

เม็ดบัว มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย

เกาลัด มีความหมายถึง เงิน

สาหร่ายดำ คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย

เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข

หน่อไม้ คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่งเป็นสีแห่งโชคร้าย สำหรับปีใหม่และหมายถึงการไว้ทุกข์

อาหารอื่นๆ รวมไปถึงปลาทั้งตัว เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดมสมบรูณ์ และไก่สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เส้นหมี่ก็ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว

ทางตอนใต้ของจีน จานที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุดได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ ทางเหนือ หมั่นโถ และติ่มซำ เป็นอาหารที่นิยม อาหารจำนวน มากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน

การไหว้เจ้า

การไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษ เพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุข ความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง เรียกว่า โป๊ยโจ่ย แปลว่า 8 เทศกาล ดังนี้

ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 (เป็นการกำหนดวันทางจันทรคติของจีน) คือ ตรุษจีน เรียกว่า ง่วงตั้งโจ่ย

ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า ง่วงเซียวโจ่ย

ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า ไหว้เช็งเม้ง เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย

ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า โหงวเหว่ยโจ่ย เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง

ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีน เรียกว่า ตงง้วงโจ่ย

ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า ตงชิวโจ่ย ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์

ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า ไหว้ตังโจ่ย

ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ ก๊วยนี้โจ่ย

นอกจากนี้บางบ้านยังมีการไหว้พิเศษ คือการไหว้เทพยดาที่ตนเองเคารพนับถือ

ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่นการไหว้วันเกิดเทพยดา ฟ้าดิน เรียกว่า ทีกงแซ หรือ ทีตี่แซ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน

ไหว้อาเนี๊ยแซ คือไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือวันที่ 19 เดือน 2 วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9

ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3

ไหว้เทพยดาผืนดิน คือไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3

ไหว้อาพั๊ว คือการไหว้วันเกิดอาพั๊ว หรืออาพั๊วแซ ซึ่งอาพั๊ว หมายถึง พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี

ไหว้เจ้าเตา คือไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า ไหว้เจ๊าซิ้ง

ของสำหรับไหว้เจ้าที่

ของคาว หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย
ไหว้ 3 อย่าง เรียกว่า ชุดซาแซ ประกอบด้วย หมู เป็ด ไก่
ไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า ชุดโหงวแซ ประกอบด้วยหมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา

ข้าว ข้าวสวยใส่ชาม พร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า

ขนมไหว้ ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย(เป็นไส้ชนิดใดก็ได้)

ขนมจันอับ ซาลาเปา ขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพู หรือมีแต้มจุดแดง

ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องยืนเป็นหลัก

ผลไม้ ส้ม กล้วยทั้งหวีเลือกเขียวๆ องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ ลูกพลับ

เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ก็จัด 5 ที่เช่นกัน

กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้าที่ ธูปไหว้ คนละ 5 ดอก

ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต็ก ค้อซี ฯลฯจะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา

กระถางธูป โดยเอาข้าวสารใส่ในแก้วไว้สำหรับปักธูป หลังจากที่เสร็จพิธีก็นำเข้าไปผสมกับถังข้าวสารในบ้านไว้สำหรับหุงทนเพื่อให้เฮง ๆ

จำนวนชนิดของขนมไหว้ นิยมให้สอดคล้องกับของคาว เช่น ไหว้ ของคาว 3 อย่าง ขนม 3 อย่าง ผลไม้ 3 อย่าง

ของสำหรับไหว้บรรพบุรุษ

หมู มีความหมายถึงความมั่งคั่ง ด้วยความอ้วนของตัวหมู สะท้อนถึงความกินดีอยู่ดี

ไก่ มีมงคล 2 อย่างคือ
– หงอนไก่สื่อถึงหมวกขุนนาง ความหมายมงคลจึงเป็นความก้าวหน้าในงาน
– ไก่ขันตรงเวลาทุกเช้า สะท้อนถึงการรู้งาน

ตับ คำจีนเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับคำว่า กัว ที่แปลว่าขุนนาง

ปลา คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ฮื้อ โดยมีวลีมงคล อู่-ฮื้อ-อู่-ชื้ง แปลว่า ให้เหลือกินเหลือใช้  ไหว้ปลาเพื่อให้มีเงินเหลือกินเหลือใช้มาก ๆ

กุ้งมังกร ไหว้ด้วยรูปลักษณ์ของกุ้งที่หัวใหญ่ มีก้ามให้ความรู้สึกถึงอำนาจวาสนา ต่อมากุ้งมังกรหายาก จึงเปลี่ยนเป็นเป็ดสำหรับคนจีนแต้จิ๋ว และเปลี่ยนเป็นปลาหมึกแห้ง  สำหรับคนจีนแคะ)

ชุดกับข้าว ซึ่งทำไหว้ผีบรรพบุรุษและไว้รับประทาน

ลูกชิ้นปลา จีนแต่จิ๋วออกเสียงว่า ฮื้อ-อี๊ แปลว่า ลูกปลากลมๆ
– ฮื้อ หรือปลา คือให้เหลือกินเหลือใช้
– อี๊ แปลว่า กลม ๆ หมายถึงความราบรื่น

ผัดต้นกระเทียม เพราะคนจีนแต้จิ๋ว เรียกกระเทียมว่า สึ่ง พ้องเสียงกับสึ่งที่แปลว่านับ ไหว้ต้นกระเทียม เพื่อให้มีเงินมีทองให้ได้นับอยู่เสมอ

ผัดตับกับกุยช่าย ตับคือ การเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับกัวที่แปลว่า ขุนนาง  กุยช่ายเป็นการพ้องเสียงของคำว่ากุ่ย แปลว่า แพง รวย

แกงจืด คนจีนเรียกว่า เช็ง-ทึง เช็ง แปลว่า ใส หวาน ซดคล่องคอ การไหว้น้ำแกงก็เพื่อให้ชีวิตลูกหลานหวานราบรื่น

เป๊าฮื้อ เป๊า หรือ เปา แปลว่า ห่อ ส่วน ฮื้อ คือเหลือกินเหลือใช้ ไหว้เป๊าฮื้อ  เพื่อห่อความมั่งคั่เหลือกินเหลือใช้มาให้ลูกหลาน

ผัดถั่วงอก คนจีนแต้จิ๋วเรียกถั่วงอกว่า เต๋าแหง๊ แต่ภาษาวิชาการเรียกว่า เต้าเหมี่ยว เหมี่ยว แปลว่า งอกงาม ไหว้ถั่วงอกเพื่อให้งอกงามรุ่งเรือง

เต้าหู้ เป็นคำเรียกแบบชาวบ้านที่อาจเรียกเป็นเต้าฮกก็ได้ ฮก คำนี้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงเต้าหู้ว่า โตฟู ฟู แปลว่า บุญ ความสุข

สาหร่ายทะเล เรียกว่า ฮวกฉ่าย ถ้าออกเสียงเป็นฮวดไช้ ก็แปลว่า โชคดี ร่ำรวย

ชุดของหวาน

ซาลาเปา เล่นเฉพาะคำว่า เปา แปลว่า ห่อ ไหว้ซาลาเปาเพื่อให้เปาไช้ แปลว่า  ห่อโชค  ห่อเงินห่อทองมาให้ลูกหลาน

ขนมถ้วยฟู คือไหว้เพื่อให้เฟื่องฟู คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมถ้วยฟูว่า ฮวกก้วย ก้วย  แปลว่า ขนม ฮวก แปลว่างอกงาม

ขนมคัดท้อก้วย คือขนมไส้ต่าง ๆ เช่น ไส้ผักกะหล่ำ มันแกว ไส้กุยช่าย ทำเป็นรูปลูกท้อสีชมพู ลูกท้อ เป็นผลไม้มงคลมีนัยอวยพรให้อายุยืนยาว

ขนมไข่ คนจีนเรียกว่า หนึ่งก้วย ไข่คือบ่อเกิดแห่งการได้เกิดและเติบโต ไหว้ขนมไข่เพื่อให้ได้มีการเกิดและการเจริญเติบโต

ขนมจับกิ้ม หรือ แต้เหลียง ก็เรียกคือ ขนมแห้ง 5 อย่าง จะเรียกว่า โหงวเส็กทึ้ง หรือ ขนม 5 สี ก็ได้ ประกอบด้วย ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบ ฟักเชื่อม และข้าวพอง
– ฟัก เพื่อฟักเงินฟักทอง ฟักเชื่อม คือการฟักความหวานของชีวิต
– ข้าว ถั่ว งา คือ ธัญพืช ธัญญะ แหลว่า งอกงาม ไหว้เพื่อให้งอกงามและชีวิตหวานอย่างขนม

ขนมอี๊ อี๊ หรือ อี๋ แปลว่ากลม ๆ ขนมอี๊ทำจากแป้งข้าวเหนียว นวดจนได้ที่เจือสีชมพู ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ตาล เพื่อให้ชีวิตเคี้ยวง่ายราบรื่น เหมือนขนมอี๊ที่เคี้ยวง่ายและหวานใส ซึ่งขนมอี๊นี้อาจใช้เป็นสาคูหรือลูกเดือยก็ได้ คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่าอี๊เหมือนกัน

ชุดผลไม้

ส้ม คนจีนแต้จิ๋วเรียกแบบชาวบ้านว่า กา แต่ส้มมีอีกคำเรียกว่า ไต้กิก
– ไต้ แปลว่า ใหญ่ กิก แปลว่า มงคล
– ไต้กิก จึงแปลว่า มหาสิริมงคล แต่ถ้าแปลง่าย ๆ แบบชาวบ้านก็คือ โชคดี

กล้วย จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เก็ง-เจีย  จะเล่นเสียงว่า เก็ง-เจีย-เก็ง-ไล้  แปลว่า  ถึงโชคเข้ามา กับอีกความหมายว่า กล้วย มีผลมากมายแถมเป็นเครือ จึงมีมงคลให้ลูกหลานมาก ๆ  มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล

องุ่น จีนแต้จิ๋วเรียกว่า พู่-ท้อ
– พู่ ก็คือ งอก หรืองอกงาม
– ท้อ ก็คือ พ้องเสียงกับลูกท้อ ที่เป็นผลไม้มงคล อายุยืน

สับปะรด คนจีนแต้จิ๋วเรียก อั้งไล้ แปลว่า เรียกสีแดงมา สีแดงเป็นสีของโชค ก็ประมาณว่าเรียกโชคเข้ามา คนจีนทางใต้นิยมไหว้สับปะรดมาก

ขอบคุณข้อมูลจาก สสส.
ขอบคุณภาพจาก bloggang,1-2-smile.blogspot,dailynews,facebook
ขอบคุณภาพจากphuketpost,tekkacheemukkhor,kawmunkai.wordpress

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Copyright © 2016 MThai.com All rights reserved. หมายเลขทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ : 0127114707040