เทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (กันยายนตามปฏิทินสากล)
ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดงเป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ท้องถิ่น นอกจากนี้แล้ว ยังมีขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่า ขนมไหว้พระจันทร์ ที่มีสันฐานกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้ง มีไส้ต่างๆ เป็นธัญพืช ใช้เซ่นไหว้และรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์สำหรับเทศกาลนี้
ความเชื่อเกี่ยวกับ เทศกาลไหว้พระจันทร์
ที่มาของเทศกาลนี้ เกี่ยวกับเทพปกรณัมจีนที่เล่าถึง เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ที่ชื่อ ฉางเอ๋อ ซึ่งเป็นหญิงคนรักของโฮวอี้ นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวงจากทั้งหมด 10 ดวง ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์ จึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตธรรมดาเช่นมนุษย์ทั่วไปบนโลกมนุษย์กับฉางเอ๋อ แต่แล้วโฮวอี้ก็ถูกคนสนิททรยศฆ่าตาย ส่วนฉางเอ๋อนางได้ดื่มน้ำอมฤตเพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ แล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งตามลำพังด้วยความเศร้าสร้อย
ในยุคของฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในสุบินนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อที่พระองค์ได้ พบเจอมา จนแพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีมา ซึ่งในอดีต ชาวจีนโดยเฉพาะหญิงสาวจะสวดขอพรจากฉางเอ๋อเพื่อที่ขอให้มีความเยาว์วัยและ งดงามตลอดไปดุจดั่งนาง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกตำนานหนึ่งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ขณะที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่จากชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) ได้มีการก่อกบฏขึ้นของชาวฮั่น ด้วยการแอบส่งสาสน์บอกต่อ ๆ กันในไส้ขนม ความว่า คืนนี้เมื่อเวลายาม 3 ให้ทุกบ้านจัดการสังหารทหารมองโกลให้หมด อันเป็นที่มาของขนมไหว้พระจันทร์
ขั้นตอนการไหว้พระจันทร์
1. ไหว้เจ้าในช่วงเช้า ของไหว้จัดปกติ เหมือนจัดของไหว้เจ้าปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ ขนมเปี๊ยะ
2. ของไหว้บรรพบุรุษ ของไหว้จัดปกติ เหมือนจัดของไหว้บรรพบุรุษปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้อะไรก็ได้ ขนมโก๋ต่าง ขนมเปี๊ยะต่างๆ แล้วแต่เลือก ผลไม้ไหว้พิเศษ ส้มโอผลใหญ่ๆ สวยๆ
3. ของไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ
– ของคาว อาหารเจแห้ง 5 อย่าง คือ วุ้นเส้น ดอกไม้จีน เห็ดหูหนู เห็ดหอม ฟองเต้าหู้
– ขนมไหว้ ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้อะไรก็ได้ ที่ไม่มีไข่แดงเค็ม และ ต้องไม่ใช่ไส้โหงวยิ้ง หรือเมล็ด 5 อย่าง เพราะไส้โหงวยิ้ง มีใส่มันหมูแข็ง จึงเป็นของชอ คือมีคาว แต่ไหว้เจ้าแม่ ต้องไหว้อาหารเจ
– ขนมโก๋ มีหลายชนิดเช่น ขนมโก๋ขาว คนจีนเรียก “แป๊ะกอ” แป๊ะ แปลว่า สีขาว กอ คือขนม ก็มีอีกหลายแบบ ทั้งแบบ แผ่นกลม ใหญ่แบน ๆ ปั๊มทำลายนูนสวยงาม มีทั้งแบบกลมเล็ก ๆ ที่มีทั้งแบมีไส้และไม่มีไส้ แล้วยังมี ทำแบบ แท่งสี่เหลี่ยม มีไส้ก็มี ไม่มีไส้ก็มีโก๋เหลือง หรือโก๋ถั่ว มีไส้ที่นิยม เช่น ไส้ทุเรียน ไส้งาดำ โก๋เช้ง น่าสนใจที่สุด เพราะคนไทยไม่ค่อยรู้จัก นิยมทำเป็นแผ่นกลมใหญ่ ขนาดเท่าขนมโก๋ขาว เป็น แผ่นกลมแบนสีเหลืองตุ๋นๆ เพราะผสมน้ำส้มเช้ง และบางเจ้า มีใส่เม็ดกวยจี๊ ที่แกะเปลือกแล้วด้วย เวลาเคี้ยวโดนจะกรุบกรับอร่อยดี และขนมโก๋อ่อน หรือหล่ากอ ก็ทานอร่อย เหนียว ๆ ยืด ๆ หนืด ๆ นิ่ม ๆ มีสอดไส้ถั่วบดหวานมันอร่อย ไส้งาดำก็มี
– ผลไม้ อะไรก็ได้เหมือนปกติ และเพิ่มพิเศษ ส้มโอใหญ่ๆ สวยๆ
– เครื่องดื่ม ใช้ชาน้ำหรือชาใบ หรือมีทั้งสองแบบ
– กระดาษเงิน ค้อซี กอจี๊
– กระดาษเงิน-ทองพิเศษ
1. เนี้ยเก็ง หรือวังเจ้าแม่กวนอิม
2. โป๊ยเซียนตี่เอี๊ย คือ กระดาษ เงินกระดาษทองลายโป๊ยเซียน
3. กระดาษเงินกระดาษทองแบบจัดทำพิเศษสวยวาม เช่น กิมก่อง คือ โคมคู่ สัปปะรด อ้วงมึ้ง หรือผ้าม่าน เนี้ยเพ้า คือ ชุดเจ้าแม่พระจันทร์ ถ้าไหว้เจ้าแม่พระ จันทร์ หรือกวนอิมเนี้ยเพ้า ถ้าคิดว่าการไหว้ของเราเป็นการไหว้เจ้าแม่กวนอิม
– ของไหว้พิเศษอื่นๆ เครื่องใช้อุปโภค หรือสบู่ แชมพู ยาสีฟัน แป้ง เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดหน้า อะไรก็ได้ที่เราใช้ประจำ เครื่องประดับ และ อ้อยลำยาวๆ ตัดจากราก และ เอายอดด้วยผูกไว้ ที่ด้านหน้าโต๊ะไหว้ ยึดกับขาโต๊ะ แล้วทำขึ้นไปเป็นซุ้มประตู แล้วตกแต่งสวยงาม พร้อมดอกไม้ ใส่แจกันประดับโต๊ะไหว้
– จำนวนธูปไหว้ 3 ดอก หรือ บางบ้านใช้ธูปไหว้พิเศษ เป็นธูปมังกรดอกใหญ่ดอกเดียว หรือ ดอกย่อมๆ 3 ดอก เช่นเดียวกับ เทียนแดงคู่ เวลาไหว้ ไหว้หัวค่ำ บางบ้านขอบไหว้สาย เพื่อคอยเวลาให้พระจันทร์เต็มดวง
ขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia