วัดสะตือ
ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดสะตือ สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2400 เดิมตั้งอยู่ทางทิศเหนือขึ้นไปไม่ไกลนัก ที่เรียกว่า “วัดสะตือ” เพราะถือเอาต้นสะตือใหญ่ที่มีอยู่ในวัดเป็นนิมิต ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้จัดสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นแล้ว วัดสะตือ จึงย้ายไปตั้งที่บริเวณพระพุทธไสยาสน์ และเรียกนามใหม่ตามตำบลว่า “วัดท่างาม”
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธบาท ได้เสด็จฯ ขึ้นท่าน้ำตำบลนี้ 2 ครั้ง แต่นั้นมาจึงเรียกตำบลใหม่ว่าตำบลท่าหลวง และเรียกนามวัดใหม่ว่า วัดท่าหลวง ต่อมากลับไปเรียก “วัดสะตือ” ตามเดิม
ประวัติเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี
และพระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อโต)
วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ถือกำเนิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ณ บ้านไก่จัน ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 สัมฤทธิศก จุลศักราช 1150
โยมมารดาชื่อ งุด โยมตาชื่อ ผล โยมยายชื่อ ลา ชีวิตในวัยเยาว์ เมื่อโยมมารดาย้ายถิ่นฐานจากบ้านโยมยายที่ อ.ไชโย จ.อ่างทอง มาอยู่ที่ต.บางขุนพรหม ได้มอบตัวเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก (แก้ว) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม เพื่อเล่าเรียนอักขระสมัย เมื่ออายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทรวิหาร เมื่ออายุได้ 21 ปี พ.ศ. 2351 ในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงโปรดเกล้าให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) เป็นอุปัชฌาย์ ให้ฉายาว่า “พรหมรังสี”
ในปีพ.ศ. 2413 เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้มาทำการก่อสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางไสยาสน์ ริมแม่น้ำป่าสัก ณ บ้านที่ถือกำเนิด ปัจจุบัน คือ วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
พระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” มีความยาว 25 วา กว้าง 4 วา สูง 8 วา
เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ถึงแก่กรรมในแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 แรม 2 ค่ำ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 เวลา 24.00 น. บนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหาร) สิริรวมอายุ 84 ปี พรรษาที่ 64
คาถาบูชาสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
ตั้งนะโม ๓ จบ
อิติปิโส ภะคะวา ราชาโต
ท้าวเวสสุวัณโณ พะละสุขัง
พรหมรังสี นามะโต
อะระหัง พุทธะโต นะโม พุทธายะ