ความเชื่อ ประเพณี ลอยกระทง แม่น้ำคงคง

วันลอยกระทง! กับความเชื่อโบราณ 9 ข้อ ที่ควรรู้

Home / ดูดวง / วันลอยกระทง! กับความเชื่อโบราณ 9 ข้อ ที่ควรรู้

วันลอยกระทง เป็นอีกหนึ่งในเทศกาลที่เป็นนิยมมากที่สุดของไทย ซึ่งเฉลิมฉลองทุกปีในวันเพ็ญของเดือนที่สิบสองตามปฏิทินจันทรคติ ในช่วงนี้อากาศจะดีเพราะฤดูฝนก็ได้พ้นผ่านแล้ว และระดับน้ำก็สูงเต็มตลิ่งทั่วทั้งประเทศ

1. เป็นการขอขมาพระแม่คงคา

มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ ข้อนี้แม่หมอเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมานาน ซึ่งความหมายที่ลึกซึ้งของข้อนี้คือการส่งเสริมและกระตุ้นให้มนุษย์เราใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่ามากที่สุด

2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์

ตามความเชื่อที่มนุษย์เราทุกคนจะมีเทวดาประจำตัว เพื่อปกปักรักษาให้รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ เมื่อถึงวันลอยกระทงจึงต้องทำการขอขมาและขอบคุณที่คอยดูแลกันมาตลอด เป็นการเสริมพลัง รับพลังดีๆ เข้ามาเพิ่มอีกด้วย

วันลอยกระทง

 

3. เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท

พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย โดยมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะ บูชา

4. เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ

หลังจากที่ฝ่าฝันปัญหาต่างๆ มาตลอดเกือบทั้งปี ถือเป็นฤกษ์ดีที่หลายคนจะลอยความทุกข์ ความไม่สบายใจ และปัญหาต่างๆที่ผ่านเข้ามา ให้ลอยออกไปจากตัวเอง และพร้อมเปิดรับสิ่งดีๆ เพื่อเริ่มต้นใหม่ในปีต่อไป จึงเห็นหลายคนที่มาลอยกระทงแล้วยกกระทงขึ้นมาขอพร

5. ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต

ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพญามารได้

6. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก

เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ความเชื่อข้อนี้เป็นความเชื่อมาแต่โบราณกาล ว่าในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)

7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์

ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า พระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำแม้พระศรีอริยเมตไตรยเทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคต จะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอริยไตรยด้วย

8. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก

มีนิทานโบราณเล่าต่อกันมาว่า มีฤาษี 5 ตน ต่างตั้งจิตอธิษฐาน ว่าถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่ทนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ ทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม แล้วเพื่อบูชารอยพระบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

9. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุดตเถระ

ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล

 

รูปประกอบและเรียบเรียงโดย : Horoscope.mthai.com